ประชาสัมพันธ์สื่อความรู้ภาวะคลอดก่อนกำหนด ประจำเดือนกรกฏาคม 2566
ความเสี่ยงของทารกคลอดก่อนกำหนด
ทารกที่คลอดก่อนกำหนดคือทารกที่คลอดก่อนอายุครรภ์ 37 สัปดาห์ จึงมีน้ำหนักตัวน้อยตอนแรกคลอด จึงจำเป็นที่จะต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดตั้งแต่แรกเกิด เนื่องด้วยอวัยวะที่ยังพัฒนาไม่เต็มที่ ต้องใช้เวลาในการปรับตัวสู่โลกภายนอกมากกว่าทารกที่คลอดตามกำหนด ยิ่งทารกมีระยะการตั้งครรภ์ที่น้อย หรือมีน้ำหนักตัวน้อยกว่า 1.5 กิโลกรัม ก็จะยิ่งมีปัญหาเพิ่มขึ้นได้
ปัญหาที่พบได้ในทารกคลอดก่อนกำหนด
- ตัวเย็นง่าย ทารกที่เกิดก่อนกำหนดน้ำหนักตัวน้อย ตัวเล็กจึงทำให้ตัวเย็นได้ง่าย ต้องควบคุมอุณหภูมิของร่างกาย จึงจำเป็นต้องใช้ตู้อบในทารกคลอดก่อนกำหนด
- ปัญหาการหายใจ ทารกที่เกิดก่อนกำหนดและมีน้ำหนักตัวน้อย อาจต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ เพราะปอดยังทำงานได้ไม่เต็มที่
- น้ำตาลในเลือดต่ำ ทารกตัวเย็นง่ายต้องดึงเอาสารสะสมที่เก็บไว้เป็นพลังงานมาสร้างอุณหภูมิร่างกายให้อยู่ในระดับ 37 องศาเซลเซียส จึงส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำลงได้
- ทารกเกิดก่อนกำหนดติดเชื้อง่าย ภูมิคุ้มกันของทารกจะได้ในช่วงท้าย ๆ ของการตั้งครรภ์ ทำให้ติดเชื้อง่ายกว่า 4 เท่า หากเทียบกับทารกปกติ
- ทารกตัวเหลือง การทำงานของตับยังไม่สมบูรณ์ ทำให้อาการตัวเหลืองนั้นนานกว่าทารกปกติ
- ดูดกลืนได้ไม่ดี ทารกที่เกิดก่อนกำหนด การดูดกลืนและการหายใจจะไม่ค่อยดี จึงสำลักนมได้บ่อย
- น้ำคั่งในสมอง ทารกอาจเกิดน้ำคั่งในสมอง แต่จะหายเองได้ มีทารกบางกลุ่มที่โตขึ้นเรื่อย ๆ หัวจะดูโตกว่าคนอื่นนิดหน่อย เพราะถุงน้ำในสมองจะใหญ่กว่า แต่ไม่มีปัญหาด้านพัฒนาการ
- ลำไส้เน่าตายอย่างเฉียบพลัน อาจเน่าขึ้นมาโดยไม่มีทางป้องกัน และเกิดได้โดยไม่ทราบสาเหตุ แสดงอาการได้หลายประเภท เช่น ลำไส้ขาดเลือดชั่วคราว ลำไส้ตายแต่ไม่ทะลุ และลำไส้ทะลุ
วิธีดูแลทารกเกิดก่อนกำหนด
การดูแลทารกคลอดก่อนกำหนดที่น้ำหนักตัวน้อย ควรให้นมแม่อย่างต่อเนื่อง โดยทีมแพทย์และพยาบาลจะเริ่มให้นมแม่ทันทีที่ทารกมีอาการคงที่ ข้อดีของนมแม่คือย่อยง่ายและมีภูมิต้านทานโรค ลดการติดเชื้อในกระแสเลือดและภาวะลำไส้อักเสบรุนแรง รวมถึงลดระยะเวลาการนอนโรงพยาบาลอีกด้วย นอกจากนี้ ดวงตา จอประสาทตาและสมองของทารกเกิดก่อนกำหนดยังพัฒนาไม่สมบูรณ์ จึงต้องได้รับการตรวจประเมินพัฒนาการและจอประสาทตาเป็นระยะโดยกุมารแพทย์และจักษุแพทย์อย่างสม่ำเสมอ
|